วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม

ความหมายของสังคม 
นักวิชาการทางด้านสังคมวิทยา  และมานุษยวิทยาได้ให้ความหมายของสังคมไว้
ตามแนวความคิดของแต่ละคน  จะยกตัวอย่างพอสังเขป  ดังนี้
                พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตสถาน (2542:1159) ได้อธิบายคำว่า  สังคม คือ  คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ   กฎเกณฑ์  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน
                พจนานุกรม  ฉบับมติชน (2547: 856)  อธิบายว่า  สังคม  คือ  กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวเนื่องกัน
                สุดา  ภิรมย์แก้ว  (2545: 67)  อธิบายว่า  สังคม  คือ  กลุ่มคนมากกว่าสองคนขึ้นไปมาอยู่รวมกันเป็นระยะเวลายาวนานในขอบเขตหรือพื้นที่ที่กำหนด
                ยุทธ  ศักดิ์เดชยนต์  (2529: 8)  กล่าวไว้ว่า   “สังคมเป็นกลุ่มชนิดหนึ่งที่ย่อมจะมีลักษณะเหมือนกับกลุ่มต่าง ๆ โดยทั่วไป  คือ  คนในกลุ่มต้องมีความสัมพันธ์กันโดยทางตรงหรือทางอ้อมมีระเบียบกฎเกณฑ์ร่วมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ในกลุ่มเป็นไปด้วยดี  และสมาชิกมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม”
                จากผู้ที่ให้คำนิยามสรุปได้ว่า  สังคม  คือ  กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่ง  โดยมีความสัมพันธ์ภายใต้ระเบียบแบบแผนที่สังคมกำหนด  มีการกระทำระหว่างกันทางสังคม  มีประเพณี  และวัฒนธรรมที่เหมือนกันเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
                ประเภทของสังคม 
การจัดประเภทของสังคมสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่  การจัดตามลักษณะ  การครอบครองปัจจัยในการผลิต  เช่น  สังคมคอมมิวนิสต์  สังคมระบบทาส   สังคมศักดินา  สังคม
ทุนนิยม  สังคมแบบสังคมนิยม  หรือจัดตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  ได้แก่  สังคมด้อยพัฒนา   สังคมกำลังพัฒนา   และสังคมพัฒนาแล้ว  แต่นักสังคมวิทยานิยมที่จะจำแนกสังคมตามลักษณะความสัมพันธ์ของสมาชิก  และจัดตามลักษณะการดำรงชีพ   ดังนี้
     1. การแบ่งประเภทของสังคมตามลักษณะความสัมพันธ์ของสมาชิกหรือนิสัยใจคอของคนในสังคมสามารถแยกประเภทออกได้  ดังนี้
                1.1  สังคมแบบปฐมภูมิ (Gemeinschaft)  เป็นสังคมที่สมาชิกมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ  ทำการเกษตร  จับปลา  ล่าสัตว์  มักอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน  สมาชิกรู้จักกันอย่างทั่วถึง  และมีความสัมพันธ์กันแบบพี่น้อง  สมาชิกในสังคมจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน  ยึดถือจารีตประเพณีเป็นแนวทางในการติดต่อสัมพันธ์และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของสังคมชนบทหรือสังคมประเพณี 
                     1.2  สังคมแบบทุติยภูมิ ( Gesellschaft)  เป็นสังคมแบบชาวเมือง  คือ  สมาชิกมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันตามความสามารถ  หรือตามความถนัดของแต่ละคน  มีการแบ่งงานกันทำสมาชิกในสังคมจะติดต่อสัมพันธ์กันแบบผิวเผินตามตำแหน่งหน้าที่การงาน  โดยมีผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจมีการสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับ  ข้อตกลง  หรือกฎหมายขึ้นมาควบคุมพฤติกรรมของ สมาชิกอย่างเป็นทางการ
     2.  การแบ่งประเภทของสังคมตามลักษณะการดำรงชีพ  หรือการทำมาหากิน  สามารถแยกประเภทออกได้  ดังนี้
                     2.1  สังคมล่าสัตว์และเก็บอาหาร   เป็นสังคมที่สมาชิกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เร่ร่อนไปเรื่อยเพื่อหาอาหารเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์เก็บผักผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเป็นอาหาร  เครื่องมือที่ใช้หากิน  ได้แก่   ก้อนหิน  ขวาน  ธนู  หอก  เช่น  สังคมชาวเขาเผ่าตองเหลืองในประเทศไทย   สังคมของพวกชาวป่าในแถบอินโดนีเซีย
                    2.2  สังคมเลี้ยงสัตว์  เป็นสังคมที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับฝูงสัตว์เลี้ยง  ได้แก่  ฝูงวัว  ฝูงม้า  แพะ  เป็นพวกเร่ร่อน มีความชำนาญในการรบพุ่งเพื่อป้องกันฝูงสัตว์ สมาชิกมีมากเริ่มมีการสะสมสมบัติ  อาศัยอยู่ตามแหล่งที่ราบที่มีทุ่งหญ้าเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์
                    2.3  สังคมพืชสวน  เป็นสังคมที่มีมานานกว่า  12,000 ปี มาแล้ว  มีการดำรงชีพอยู่ด้วยการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม  ใช้เพียงเครื่องมือง่าย ๆ เช่น  ไม้ปลายแหลมสำหรับขุดดิน  สมาชิกของสังคมเป็นญาติพี่น้องกัน แต่เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น  มีการตั้งถิ่นฐานที่ค่อนข้างถาวรอยู่เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  สมาชิกมีเป็นจำนวนมากทำให้ต้องแยกกันทำกิจกรรมที่ต่างกันออกไป  เช่น  มีพ่อมด  หมอผี  ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม  เป็นต้น
                    2.4  สังคมกสิกรรม  เป็นสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อราว  6,000  ปีมาแล้ว  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมประเภทนี้ขึ้น  คือ  มีการคิดค้นคันไถขึ้นมาใช้  ทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมได้ผลผลิตมากจนเกินความต้องการและสามารถใช้เลี้ยงคนจำนวนมากที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเพาะปลูกได้  เมืองได้เกิดขึ้นในสังคมประเภทนี้  คนในเมืองมีอาชีพที่หลากหลาย   เช่น  พ่อค้า  ทหาร  ช่างฝีมือ  นักปกครอง  เป็นต้น 
                    2.5  สังคมอุตสาหกรรม  เริ่มขึ้นที่ประเทศอังกฤษตอนปลายศตวรรษที่ 18อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการคิดค้นเครื่องจักร เครื่องยนต์ และเสาะหาพลังงานต่างๆมาใช้ในการผลิตแทนแรงงานคนและสัตว์  การผลิตกระทำในโรงงานที่มีขนาดใหญ่มีการแบ่งงานกันทำ
ดูภาพขนาดใหญ่

นิทานความซื่อสัตย์


เด็กชายสองคนเดินทางไปยังเที่ยวยังเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของพวกเขาไม่ไกลนัก ระหว่างทางเด็กชายคนหนึ่งพบกระเป๋าเงินใบหนึ่งตกอยู่ข้างทาง เขาจึงชวนเพื่อนเดินเข้าไปดู และเก็บมันขึ้นมา เมื่อเปิดดูก็พบว่าข้างในมีเงินอยู่จำนวนมาก เด็กชายดีใจมาก เขาร้องดังๆ ว่า
เงินๆๆๆ เรารวยแล้ว
แต่เด็กชายอีกคนหนึ่งเพียงยืนดูเฉยๆ แล้วเขาก็พูดขึ้นว่า
แต่มันเป็นเงินของคนอื่นนะ บางทีเจ้าของเขาอาจตามหามันอยู่ก็ได้ เราไปหาเจ้าของมันไม่ดีกว่าหรือ
เด็กชายคนแรกกลับรู้สึกเสียดายเงิน เขาอยากเอามันไปซื้อของต่างๆ ที่อยากได้ตั้งมากมาย จึงตอบเพื่อนไปว่า
ของที่หล่นอยู่ ใครพบก็ต้องเป็นของคนๆ นั้นซิ เราพบก็ต้องเป็นของเราซิ
พูดจบ เด็กชายคนแรกก็เก็บกระเป๋าเงินไว้ในเป้ที่กลางหลังของเขา 
เมื่อไปถึงตัวเมือง พวกเขาแวะที่ร้านขายของชำ แล้วซื้อน้ำดื่มคนละขวด เด็กชายคนแรกหยิบกระเป๋าสตางค์ออกจากเป้แล้วหยิบธนบัตรใบหนึ่งออกมาซื้อลูกอมที่เขาอยากกิน เจ้าของร้านสงสัยอย่างมาก เด็กๆ อายุเท่านี้ไม่น่าพกเงินมากๆ เขาจึงถามเด็กๆ ว่า
พวกเธอได้เงินมาจากไหนกัน พ่อแม่ให้มาหรือ?”
เด็กทั้งสองรู้สึกกลัว จึงพากันส่ายหน้า แล้วก็คว้าเงินทอน วิ่งออกจากร้านไป พวกเขาวิ่งไปจนถึงสวนสาธารณะ จึงหยุดพักที่เก้าอี้ยาวตัวหนึ่ง ด้วยความเหนื่อยจึงรู้สึกหิวขึ้นมา ทั้งสองปรึกษากันว่าจะไปที่ร้านรถเข็นใกล้ๆ เพื่อซื้อของกินดีไหม เด็กคนที่เก็บกระเป๋าเงินไว้กลัวว่าจะเกิดเรื่องอีกจึงละล้าละลัง ไม่กล้าไป
ทันใดนั้น ตำรวจคนหนึ่งก็มายืนอยู่ข้างหลังเด็กทั้งสอง เขาเอามือจับไหล่เด็กๆ ไว้ เพื่อป้องกันเด็กวิ่งหนี เด็กๆ ตกใจมากที่อยู่ๆ ก็มีใครมาจับตัวแต่เมื่อมองไปก็เห็นว่าเป็นตำรวจ ก็ยิ่งตกใจกันยิ่งขึ้น หน้าของพวกเขาซีดลงไปอีกตำรวจยิ้ม พลางถามขึ้นว่า
เจ้าของร้านชำ บอกว่าพวกเธอมีเงินในกระเป๋ามากเกินเด็ก ไปขโมยเงินใครมาหรือเปล่า
เด็กทั้งสองพากันส่ายหน้า ไม่ตอบคำถาม ตำรวจคนนั้นจึงพาเด็กๆ ไปที่โรงพัก  
ที่นั่นเจ้าของกระเป๋าเงินกำลังแจ้งความอยู่ ตำรวจรู้สึกสงสัยว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเข้าไปสอบถาม จากนั้นก็มองไปที่เด็กๆ ก็เห็นเด็กทั้งสองดูสลด และต่างผลักกันไปมา ดูเหมือนเด็กๆ จะยอมรับออกมาแล้ว ตำรวจคนนั้นจึงเข้าไปถาม
ว่าไง พวกเธอจะบอกไหมว่าได้เงินมาอย่างไร ถ้าขโมยมาก็คงต้องเข้าคุกแน่ๆ แต่ถ้าเก็บได้ก็บอกมานะ
พลางชี้ไปยังชายคนที่นั่งอยู่อีกมุมหนึ่งของโรงพัก พลางบอกว่า
ชายคนนั้นทำกระเป๋าเงินหาย เขาต้องเอาเงินไปจ่ายค่าเทอมลูก แต่เงินหายไป เขากำลังเดือดร้อนมากทีเดียวนะ
เด็กๆ มองหน้ากัน แล้วเด็กคนที่เก็บกระเป๋าเงินได้ก็พูดขึ้นว่า
ผมเก็บกระเป๋าเงินได้ครับ แต่ว่าผมเอาเงินไปซื้อลูกอมไปด้วยครับ ผมจะผิดไหมครับ
ตำรวจยิ้มรับ แล้วพาเด็กทั้งสองไปพบเจ้าของเงิน ตำรวจอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจก่อน ชายคนนั้นดีใจมาก เขาบอกว่าไม่เป็นไร ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ นั้นเขาไม่คิดอะไรหรอก แค่ได้เงินคืนมาเขาก็ดีใจแล้ว
ตำรวจจึงให้เด็กๆ คืนเงินแก่ชายคนนั้น เด็กๆ เอากระเป๋าเงินออกจากเป๋คืนชายคนนั้นไปชายคนนั้นดีใจมาก เขาจึงพาเด็กๆ ไปเลี้ยงมื้อกลางวันเป็นการตอบแทน